Kick off โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2566

นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดงาน Kick off โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ วัดโคกสะแกลาด หมู่ที่ 4 ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนางชญากุล ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด และระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอศรีเทพ และเกษตรกร เข้าร่วมกิจกรรม

👉โดยมีกิจกรรมดังนี้

1. กิจกรรมถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุการเกษตรในแปลงเพาะปลูกพร้อมสาธิตการแปรรูปสภาพวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มหรือคุณค่าเพิ่มตลอดจนจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย

2. กิจกรรมเสวนาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วม” โดยมี ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้แทนโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม นายกสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้แทนเกษตรกรปลูกอ้อย ผู้แทนบริษัทรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เข้าร่วมเสวนา

3. กิจกรรมปล่อยขบวนรถเกี่ยวอ้อย

📣ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้ประสบปัญหาหมอกควันปกคลุม และเกิดมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี ซึ่งการเผาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผา และสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผา เพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในระยะต่อไป

🚫สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2567 โดยการนำรูปแบบการปรับตัวของเกษตรกร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การไม่เผาในพื้นที่การเกษตร ให้ทุกอำเภอใช้รูปแบบ 3 R Model มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร

โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

1. ส่งเสริมการหยุดเผา🚫🔥ในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วย 3R Model : 3 เปลี่ยน

1) เปลี่ยนพฤติกรรม Re-Habit

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยว และส่งเสริม การแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเผา

2) เปลี่ยนชนิดพืช Replace with High Value Crops ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกบนพื้นที่สูง จากพืชไร่เป็นไม้ผล พืชเศรษฐกิจแบบผสมผสานที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ อะโวคาโด มะคาเดเมีย หรือไม้โตเร็ว หรือปลูกผักในโรงเรือน

3) เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือก Replace with Alternate Crops ปรับเปลี่ยนพืชทางเลือกบนพื้นที่ราบ เปลี่ยนพื้นที่นาปรังหรือพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้ปลูกข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่วทดแทนการทำนาปรัง

2.❤️เน้นย้ำประเด็นเร่งด่วน 4 ประเด็นที่สำคัญ

1) สร้างการรับรู้ให้เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่รวมทั้งกลุ่มเกษตรกร องค์กรเกษตรกร YSF/SF และ อกม.

2)ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องผ่านทุกช่องทางทุกเวทีที่กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปขับเคลื่อนในพื้นที่ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในส่วนกิจกรรมของกรมส่งเสริมการเกษตร ปรับช่วงเวลาดำเนินงานให้สอดคล้องกับช่วงเริ่มเผาภาย(ในเดือนมกราคม 2567)

3) ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินผล ออกพื้นที่เยี่ยมเยียนทำความเข้าใจ ร่วมขับเคลื่อนงานระหว่างภาครัฐผู้นำชุมชนประชาชนเกษตรกรและเอกชนในพื้นที่

4)พิจารณาจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่ระดับตำบลและระดับอำเภอจัดทำแผนเผชิญเหตุและให้ความสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

✅โดยมีเป้าหมาย คือ ให้การเผาหรือแหล่งกำเนิดความร้อนในพื้นที่การเกษตร ที่กรมส่งเสริมการเกษตรรับผิดชอบ ลดลง 50 %

🙏🏻กิจกรรมในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานเกษตรอำเภอศรีเทพ พร้อมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอำเภอศรีเทพ โรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด สมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ และผู้นำชุมชนตำบลศรีเทพทุกท่าน รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยตำบลศรีเทพ จำนวน 100 ราย