ประวัติความเป็นมา

การจัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร มีแนวคิดและการดำเนินงานเพื่อให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการส่งเสริมและเผยแพร่ทางการเกษตร ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ไปสู่เกษตรกร ไว้ที่หน่วยงานเดียว ซึ่งเป็นการรวมงานส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานปลัดกระทรวงกรมกสิกรรม และกรมการข้าวเข้าด้วยกันเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยการบริการและเผยแพร่วิชาการ หรือความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ให้ถึงตัวเกษตรกรโดยทั่วถึงและแพร่หลายมีประวัติของการจัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยลำดับ ดังนี้

วันที่ 1 กรกฎาคม 2498 ที่ประชุมอธิบดีกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรได้มีการปรึกษาหารือถึงเรื่องการปรับปรุงงานส่งเสริมการเกษตรให้เป็นรูปแบบประสม แทนการส่งเสริมแต่ละพืชหรือสัตว์แต่ละอย่าง โดยจะเริ่มด้วยการจัดตั้งกองขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและจะขอตั้งเป็นกรมต่อไป

วันที่ 11 มกราคม 2504 คณะรัฐมนตรีลงมติให้กระทรวงเกษตรพิจารณาตั้งกรม หรือสำนักงานส่งเสริมการเกษตรขึ้นเป็นหน่วยงานส่วนกลางในกระทรวงเกษตร

วันที่ 1 กรกฎาคม 2509 ให้เรียกชื่อกรมแพร่ขยายการเกษตร โดยโอนงานส่งเสริมการเกษตรจากทุกกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรมาร่วมอยู่ในกรมนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่ให้เรียกพนักงานแพร่ขยายจังหวัดและอำเภอ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารแล้ว ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแต่ข้อความในหนังสือชื่อกรมได้เปลี่ยนไปจาก กรมแพร่ขยายการเกษตร เป็น กรมบริการเกษตร ส่วนเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคให้ยุบกสิกรรมจังหวัด – อำเภอเป็น เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วยในหลักการ

วันที่ 14 กันยายน 2510 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 เพื่อขอตั้งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ผ่านมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จากสภาร่างรัฐธรรมนูญ และได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายให้ตั้ง “กรมส่งเสริมการเกษตร” ได้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2510 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 84 ตอนที่ 101 วันที่ 20ตุลาคม 2510 โดยมีเหตุผลในการจัดตั้ง คือ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรของประเทศมีอาชีพในการเกษตรประมาณร้อยละ 80และสินค้าการเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ นำรายได้เข้าประเทศประมาณร้อยละ 90 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ซึ่งอาจถือได้ว่าการเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ ขึ้นอยู่กับอาชีพการเกษตรเป็นสำคัญ และมี ศาสตราจารย์พิเศษทำนอง สิงคาลวณิช ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรคนแรก ตั้งแต่ปี 2511-2518 เป็นเวลา 8 ปี

กรมส่งเสริมการเกษตรมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับอำนวยบริการและเผยแพร่วิชาการ หรือความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ให้ถึงตัวเกษตรกรโดยแพร่หลายและทั่วถึง เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตในด้านการเกษตรมีปริมาณและคุณภาพตามต้องการของตลาด และเพื่อให้มีตลาดสำหรับจำหน่ายผลิตผล อันจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และฐานะดีขึ้น เป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจส่วนรวมให้มั่นคงยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์การก่อตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งจัดรูปบริการทางวิชาการเกษตรให้อยู่ในสถาบันเดียวกัน เพื่อสะดวกในการจัดบริการแก่เกษตรกร โดยจัดให้มีการปลูกพืชอาหารให้พลเมืองและส่งเป็นสินค้าออกรวมทั้งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมในประเทศ และกระทำในลักษณะให้เกษตรกรรวมกันเป็นกลุ่ม มีการประสานงานกับสถาบันของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง แนวทางการส่งเสริมกระทำโดยพิจารณาความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกเป็นหลักในการส่งเสริม มีการกำหนดระบบการปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และทรัพยากร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด สนับสนุนการรวมกลุ่มการสร้างเกษตรกรชั้นนำในท้องถิ่นเพื่อมุ่งให้เกิดการช่วยตนเอง รวมทั้งยุเกษตรกรกำหนดแผนการปลูกพืชหลายครั้งในพื้นที่ที่มีอยู่แทนที่จะเพิ่มผลผลิต เพื่อแก้ปัญหาการทำงานไม่เต็มที่ของเกษตรกร

เสนอแนวคิดในการประกอบอาชีพแก่ประชากรเป้าหมายให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ชีววิทยา เทคโนโลยีการผลิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรโดยเป็นตัวกลางในการนำวิทยาการจากสถาบันวิจัยหรือแหล่งความรู้ต่างๆ มาปรับปรุงพัฒนาเผยแพร่แก่ประชากรเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็รับปัญหาต่างๆ ในพื้นที่มาพิจารณาแก้ไขหรือถ่ายทอดกลับไปสู่สถาบันวิจัยส่งเสริมให้มีการผลิตทางการเกษตรให้เพียงพอแก่การบริโภคภายในประเทศ เพียงพอแก่การใช้ในอุตสาหกรรมและเพื่อส่งออกโดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนการผลิตให้การบริการและสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางประเภทและบางโอกาสแก่เกษตรกร เช่น กรณีประสบภัยธรรมชาติศัตรูพืชระบาดรุนแรง และกรณีอื่นๆ ที่เกษตรกรไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพื่อให้การผลิตของเกษตรกรและของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมตัวเป็นสถาบันเกษตรกรหรือกลุ่มกิจกรรมเฉพาะเรื่อง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาการใช้เทคโนโลยีการผลิต ชนิด ปริมาณ และคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งเพื่อเป็นฐานในการจำหน่าย และกระจายรายได้อย่างยุติธรรม โดยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140 และฉบับที่ 141 การจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และกลุ่มยุวเกษตรกรประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเผยแพร่ความรู้ทางการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ ในระดับพื้นที่ปฏิบัติการ รวมทั้งประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการเกษตรในทุกๆ ด้านเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศ

ราชการบริหารส่วนกลาง มี 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม กองคลัง กองประสานงานวิชาการเกษตร กองอบรมและเผยแพร่ ราชการบริหารส่วนภูมิภาคมี 2 หน่วยงาน คือที่ทำการเกษตรจังหวัด และที่ทำการเกษตรอำเภอ โดยมีอัตรากำลังข้าราชการในระยะเริ่มตั้งกรมฯ จำนวน 1,726 คน

กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2557ได้กำหนดภารกิจให้กรมส่งเสริมการเกษตรมีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนการส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูปการเพิ่มมูลค่า การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ โดยการศึกษา วิจัย พัฒนา กำหนดมาตรการและแนวทางในการส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และการให้บริการทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
2. ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกรองค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุนชน
3. ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตร
4. ฝึกอาชีพ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และให้บริการทางการเกษตร
5. ศึกษา วิจัย และพัฒนางานด้านการส่งเสริมการเกษตร
6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย