ข้อมูลพื้นฐาน

ข้อมูลพื้นฐาน

“เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว

ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง”

1.1 ประวัติความเป็นมา

จังหวัดเพชรบูรณ์มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย  ลักษณะทางกายภาพนั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มแบบท้องกระทะ ประกอบด้วยเนินเขา ป่า และที่ราบเป็นตอนๆสลับกันไป พื้นที่มีลักษณะลาดชันจากเหนือลงไปใต้ ตอนเหนือมีทิวเขาสูง ตอนกลางเป็นพื้นที่ราบและมีเทือกเขาขนาบกันไปทั้งสองข้างมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายสำคัญโดยไหลจากจังหวัดเลย  เพชรบูรณ์  ผ่านไปสู่จังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตามลำดับ  จึงส่งผลให้พื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย  ดินมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชทำการเกษตร  รวมทั้งส่งเสริมปัจจัยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

กล่าวถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์นั้นเริ่มจาก  ชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์  เมื่อครั้งโบราณน่าจะชื่อว่าเมือง “เพชบุระ” ตามที่ปรากฏในจารึกลานทองคำ ที่พบจากเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร  แต่ในระยะหลังต่อมาแปรเปลี่ยนเป็น “เพชรบูรณ์” กลายความหมายเป็นเมืองที่อุดมด้วยเพชร และได้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด

                จากการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ผ่านมา พบว่ามีร่องรอยหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ปรากฏอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา จนกระทั่งถึงในสมัยประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง  โดยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการใช้ตัวอักษรในการบันทึก สื่อสารและถ่ายทอดนั้น  พบว่ามนุษย์ในสมัยนั้น มีการดำรงชีวิตอยู่ด้วยการหาตามธรรมชาติ อาศัยอยู่ในถ้ำเพิงผา รู้จักเพาะปลูกพืชบางชนิด เลี้ยงสัตว์  มีเทคโนโลยีในการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้แบบง่ายๆ เชื่อในเรื่องธรรมชาติ และมีประเพณีการฝังศพ จนกระทั่งพัฒนาขึ้นเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น เป็นลำดับ

                บริเวณที่ปรากฏร่องรอยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น พบหลายพื้นที่ของจังหวัด ได้แก่ ด้านทิศตะวันตกที่อำเภอวังโป่ง  อำเภอชนแดน พบเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทหินขัด  เช่น กำไลหิน และขวานหิน  กำหนดอายุอยู่ในราว 3,000 – 4,000 ปีมาแล้ว  ด้านทิศใต้ที่อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี และที่อำเภอศรีเทพ ซึ่งมีเมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งเป็นเมืองโบราณในยุคต้นประวัติศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีอายุเก่าแก่ไปกว่า 2,000 ปี และยังถือได้ว่าแหล่งโบราณคดีที่พบบริเวณนี้มีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับชุนชนโบราณในจังหวัดลพบุรีและบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักอีกด้วย

บริเวณด้านทิศเหนือที่อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า และอำเภอเมืองเพชรบูรณ์  ในปัจจุบันได้พบหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน ทั้งชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ที่ฝังร่วมกับสิ่งของเครื่องใช้  เครื่องประดับทำจากโลหะ แก้ว หิน และพบตะกรันโลหะ[2] ซึ่งเป็นหลักฐานทางด้านโลหกรรมในพื้นที่แถบนี้

ต่อมาเมื่อมนุษย์รู้จักการใช้ตัวอักษรแล้ว  ได้ถือว่าเข้าสู่ช่วงสมัยประวัติศาสตร์ โดยอาจเริ่มนับตั้งแต่ สมัยที่รับวัฒนธรรมทวารวดี  หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนในช่วงนี้ได้แก่ที่เมืองศรีเทพ  ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ และมีร่องรอยการติดต่อสัมพันธ์กับแหล่งชุมชน ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบทวารวดีในที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา มีศาสนสถานที่เป็นสถูปเจดีย์เนื่องในศาสนาพุทธ เช่น เขาคลังใน และเขาคลังนอก โบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา  ทั้งธรรมจักร พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์จำนวนมาก  มีจารึกอักษรปัลลวะและหลังปัลลวะ จารึกเนื้อหาเกี่ยวศาสนาเป็นส่วนใหญ่ มีอายุอยู่ในช่วง 1,200 – 1,400 ปีมาแล้ว

                ในช่วงประมาณ 800 – 900 ปีมาแล้ว  อิทธิพลของเขมรได้แผ่มาถึงเมืองศรีเทพเช่นเดียวกันกับ เมืองโบราณในเขตภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย  มีรูปเคารพและปราสาทอิทธิพลเขมรสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู เช่น ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ฤาษี  จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งเขมรที่แผ่ขยายอำนาจมาถึงยังดินแดนแถบนี้  เมืองศรีเทพก็เจริญอยู่เป็นช่วงสุดท้าย  และหลังจากนั้นร่องรอยของเมืองเมืองนี้ก็ได้ขาดหายไป

                ในช่วงสมัยสุโขทัย เมืองเพชรบูรณ์มีฐานะเป็นเมืองแว่นแคว้นด้านตะวันออกเฉียงใต้ พ่อขุนรามคำแหงได้แผ่ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการแผ่ขยายมาถึงพื้นที่ด้านตะวันออกของสุโขทัย ตามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ด้านที่ 4  และศิลาจารึกหลักที่ 93 วัดอโศการาม ด้านที่ 2 พ.ศ.1949  

                จากศิลาจารึกหลักที่ 1 คำว่า “ลุมบาจาย” นั้น เชื่อว่าได้แก่เมืองหล่มเก่า และศิลาจารึกหลักที่ 93 คำว่า “วัชชปุระ” เชื่อว่าเป็นเมืองเพชรบูรณ์  แสดงให้เห็นว่าอาณาเขตของกรุงสุโขทัย ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย (พ.ศ.1911) มีเมืองเพชรบูรณ์เป็นรัฐสีมา[3]

ก่อนที่กรุงสุโขทัยจะรุ่งเรืองขึ้นมานั้น จารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ได้ปรากฏชื่อ พ่อขุนผาเมือง (โอรสพ่อขุนนาวนำถุม ผู้ครองเมืองราด) ร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว ทำการยึดเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสมาสโขลญลำพง  และได้ให้พ่อขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัยต่อไป  ชาวเพชรบูรณ์จึงเคารพนับถือและได้สร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้ที่อำเภอหล่มสัก  เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของพระองค์สืบไป

หลักฐานทางโบราณคดีซึ่งเป็นสิ่งชี้ชัดว่า “เมืองเพชรบูรณ์” เป็นรัฐสีมาของสุโขทัย ได้แก่ พระเจดีย์ทรงดอกตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ของวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุของสุโขทัย เมืองอื่นๆ ซึ่งจัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ และในการขุดค้นทางโบราณคดีที่พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ ของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2510 ได้พบศิลปวัตถุมากมาย เช่น เครื่องสังคโลกของไทย และเครื่องถ้วยกับตุ๊กตาจีน

                ในสมัยอยุธยา เมืองเพชรบูรณ์ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ในช่วงพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 -2031)  ได้กล่าวถึงศักดินาข้าราชการที่มียศสูงสุด  มีศักดินาหนึ่งหมื่น หนึ่งในนั้น ได้แก่ พระยาเพชรรัตน์สงคราม (ประจำเพชรบูรณ์)  และในช่วงเวลาเดียวกัน เมืองศรีถมอรัตน์ (ศรีเทพ) ขึ้นทำเนียบเป็นหัวเมืองรวมอยู่ด้วย  ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเป็นที่ พระศรีถมอรัตน์ ตามชื่อเขาแก้วหรือเขาถมอรัตน์ ซึ่งเป็นเขาสำคัญของเมือง  เมืองเพชรบูรณ์ยังถูกกล่าวถึงอีกหลายครั้งในฐานะหัวเมืองสำคัญ ดังปรากฏในพงศาวดารไทยรบพม่า  สรุปความได้ว่าในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ถูกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแห่งพม่ายกทัพมาตี  ได้มีกองทัพจากพระไชยเชษฐาธิราชแห่งนครเวียงจันทน์ในฐานะพันธมิตร ยกทัพมาช่วยทางด่านนครไทย เข้ามาทางเมืองเพชรบูรณ์

                ในสมัยพระมหาธรรมราชา เกิดเหตุการณ์พระยาละแวกเจ้าแผ่นดินเขมร ยกทัพมารุกรานหลายครั้ง ในพ.ศ.2125 พระยาละแวกส่งทัพโดยมีพระทศราชาและพระสุรินทรราชาเข้าตีเมืองนครราชสีมา เมื่อได้แล้วจึงเตรียมเคลื่อนทัพไปตีเมืองสระบุรี  ในคราวนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ให้พระศรีถมอรัตน์(เจ้าเมืองศรีเทพ สมัยนั้นเรียกว่าเมืองท่าโรง) และพระชัยบุรี (เจ้าเมืองชัยบาดาล) เป็นผู้นำกองทัพหัวเมืองเข้าร่วมขับไล่ข้าศึกจนแตกพ่ายไป

                สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิเคราะห์ว่า เมืองเพชรบูรณ์สร้างขึ้นมา 2 ยุคบนบริเวณเดียวกัน ยุคแรกคงอยู่ในเวลาที่เมืองสุโขทัยหรือพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการปกครอง  เพราะสร้างเมืองเอาลำน้ำป่าสักไว้กลางเมืองลักษณะเดียวกับเมืองพิษณุโลก  แนวกำแพงเมืองกว้างยาวด้านละ 800 เมตร ยุคที่ 2 น่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ด้วยมีป้อมและกำแพงลักษณะเดียวกับป้อมกำแพงเมืองที่สร้างที่ลพบุรี เป็นแต่ร่นแนวกำแพงเมืองเล็กลงกว่าเดิม[4]

สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2318 กองทัพพม่าโดยอะแซหวุ่นกี้ ยกทัพมาตีกรุงธนบุรี ได้ล้อมเมืองพิษณุโลกไว้  เจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้ตีฝ่านำทัพออกมาได้ และมาชุมนุมพักทัพสะสมเสบียงที่เมืองเพชรบูรณ์

ในช่วงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ชื่อเมืองเพชรบูรณ์และศรีเทพ (สีเทพ) ยังปรากฏในเอกสารสมุดไทยดำใบบอกข่าวการสวรรคตของรัชกาลที่ 2 ในฐานะหัวเมืองขึ้นกรมมหาดไทย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการยกฐานะของเมืองและเปลี่ยนชื่อเมืองจากศรีเทพเป็นวิเชียรบุรี  และสร้างเมืองหล่มสักขึ้น โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่า เดิมบริเวณหล่มเก่ามี “เมืองลม” หรือ “เมืองหล่ม” ในสมัยสุโขทัยซึ่งเป็นเมืองที่ชาวเวียงจันทน์และหลวงพระบางมาอาศัยอยู่จำนวนมาก   ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการเปลี่ยนแปลงนามเจ้าเมืองเพชรบูรณ์และเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งใช้ชื่อเดิมมาแต่สมัยอยุธยา

                ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี มีการรวบรวมหัวเมืองตามชายแดนที่สำคัญตั้งเป็นเขตการปกครองใหม่ ขึ้นเป็นมณฑล ในปีพ.ศ.2442 มณฑลเพชรบูรณ์ได้ตั้งขึ้นเป็นอิสระเนื่องจากท้องที่มีภูเขาล้อมรอบ การคมนาคมกับมณฑลอื่นไม่สะดวก ลำบากแก่การติดต่อราชการ และโอนเมืองหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า อำเภอวังสะพุง มาขึ้นกับมณฑลเพชรบูรณ์  ยุบเมืองวิเชียรบุรีเป็นอำเภอ  โอนอำเภอบัวชุม อำเภอชัยบาดาลขึ้นกับเมืองเพชรบูรณ์  มณฑลเพชรบูรณ์จึงมีสองเมือง คือ หล่มสัก กับเพชรบูรณ์[5]  ผู้บริหารราชการเป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล  ผู้ดำรงตำแหน่งคนแรก คือ พระยาเพชรรัตน์สงคราม (เฟื่อง)

                พ.ศ.2447 ได้ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ และได้ตั้งเป็นมณฑลอีกในปี พ.ศ.2450  และได้ยุบอีกครั้งในปี พ.ศ.2459  จังหวัดเพชรบูรณ์ในขณะนั้นมี 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง  อำเภอวัดป่า(หล่มสัก) อำเภอวิเชียรบุรี และกิ่งอำเภอชนแดน[6]  จนกระทั่ง พ.ศ.2476 ได้ยกเลิกมณฑลต่างๆทั่วประเทศ

                ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีหลักฐานเอกสารแสดงให้เห็นว่า ทุกอำเภอมีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่คละกันไป ทั้งชาวจีน พม่า ลาว เขมร เงี้ยว แขก มอญ มีอาชีพทำไร่ยาสูบ ทำนา ทำไร่อ้อย และเลี้ยงไหม

                ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2  ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ.2486 ได้วางแผนการจัดสร้างนครบาลเพชรบูรณ์  เพื่อเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แทนกรุงเทพฯ โดยให้กรุงเทพฯเป็นเมืองท่า  ในขณะเดียวกันก็ใช้เพชรบูรณ์เป็นฐานทัพในการขับไล่ญี่ปุ่นด้วย และตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ห่างจากกรุงเทพ 346 กิโลเมตร  สามารถติดต่อกับประเทศจีนโดยผ่านพม่าและลาวได้สะดวกเช่นกัน  นอกจากนี้แล้วหากเกิดเหตุการณ์ในภาวะสงคราม การขัดแย้งระหว่างประเทศ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษในขณะนั้น เพชรบูรณ์จะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย  แต่เนื่องจากระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร  ทำให้ต้องยกเลิกไป  แต่อย่างไรก็ตามได้มีการพัฒนาปรับปรุง  และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งอาคารสถานที่ขึ้นมากมายในจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ ช่วงเวลานี้ และทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้น

                ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2510 – 2525 บริเวณพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย) พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ต้องการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้แทรกซึมและครอบครอง มีผู้ก่อการร้ายเข้าต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล  หลังจากที่สู้รบเป็นเวลา 14 ปีเศษ รัฐบาลจึงได้รับชัยชนะ  ปัจจุบันจึงยังมีสถานที่หลงเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์บนเทือกเขาค้อที่เคยเป็นสมรภูมิการสู้รบทางอุดมการณ์  และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในปัจจุบัน  หลังจากนั้นเมืองเพชรบูรณ์ก็มีรูปแบบการปกครองดังเช่นในปัจจุบัน

                กล่าวโดยสรุปได้ว่า พื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีหลักฐานการปรากฏอยู่ของชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำป่าสักมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย  จากนั้นได้รับอารยธรรมจากภายนอก ได้แก่วัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมรโบราณ  ทำให้ชุมชนเหล่านั้นมีพัฒนาการด้านต่างๆจนกลายเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่สืบมา  เมื่อเข้าสู่ช่วงสมัยสุโขทัย เมืองเพชรบูรณ์มีฐานะเป็นเมืองแว่นแคว้นของกรุงสุโขทัย  และในสมัยกรุงศรีอยุธยา  มีเมืองเพชรบูรณ์และเมืองศรีเทพเป็นเมืองสำคัญและต่อเนื่องจนถึงช่วงสมัยรัตนโกสินทร์  ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงและแบ่งเขตการปกครองอีกหลายครั้ง  จนครั้งหนึ่งเมืองเพชรบูรณ์เกือบมีฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยแทนกรุงเทพฯ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม  และหลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงพัฒนาด้านต่างๆมากมาย จนกระทั่งเป็นเมืองเพชรบูรณ์ในปัจจุบัน

(นายธวัชชัย  ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดี ปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ค้นคว้าเรียบเรียง) ค้นคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 จากเว็บไซต์จังหวัดเพชรบูรณ์ (http://www.phetchabun.go.th/data_detail.php?content_id=1)

1.2 ลักษณะทางภูมิศาสตร์

          1.2.1 ขนาดและที่ตั้ง

                   จังหวัดเพชรบูรณ์ มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย มีแนวเขตติดต่อระหว่างภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประมาณเส้นรุ้งที่ 16 องศาเหนือ กับเส้นแวงที่ 101 องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 7,747,383 ไร่ ส่วนที่กว้างที่สุดของจังหวัด จากด้านตะวันออกถึงตะวันตก กว้าง 55 กิโลเมตร ส่วนที่ยาวที่สุดวัดจากเหนือสุดถึงใต้สุด ยาว 296 กิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 114 เมตร อยู่ห่างกรุงเทพ 346 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

          1.2.2 ลักษณะภูมิประเทศ

                   จังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขารูปเกือกม้า  รอบพื้นที่ด้านเหนือของจังหวัด และมีแนวขนาดกันไปทั้งสองข้างทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก พื้นที่ราบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ตรงกลาง ลงมาจนถึงอำเภอด้านใต้ของจังหวัด และอำเภอทางด้านเหนือของจังหวัดเป็นพื้นที่ลาดชัน มีพื้นที่ป่าไม้รวม 2,660,176 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 34.34 ของพื้นที่ทั้งหมด มีแม่น้ำป่าสัก เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของจังหวัด ไหลผ่านตอนกลางของจังหวัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ ยาวประมาณ 350 กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากภูเขาผาลาในจังหวัดเลย มีห้วยลำธารหลายสายเกิดจากภูเขาเพชรบูรณ์ แม่น้ำป่าสักไหลผ่านอำเภอหล่มเก่า หล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ หนองไผ่ บึงสามพัน วิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ

          1.2.3 ลักษณะภูมิอากาศ

                   เนื่องจากจังหวัดเพชรบูรณ์มีภูเขาล้อมรอบจึงทำให้อากาศร้อนจัดในฤดูร้อน หนาวจัดในฤดูหนาว โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอน้ำหนาว เขาค้อ และหล่มเก่า จะมีอากาศหนาวที่สุด และบนภูเขาจะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี ในฤดูร้อนและฤดูฝนจะมีอุณหภูมิ 20 – 24 องศา ฤดูร้อนเริ่มในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ฤดูฝนเริ่มเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม และฤดูหนาวเริ่มในเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี

          1.2.4 ลักษณะของแหล่งน้ำ

                   จังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีห้วย คลอง บึง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ มีแม่น้ำสายสำคัญเพียงสายเดียว คือ แม่น้ำป่าสัก เดิมแม่น้ำป่าสักมีความอุดมสมบูรณ์มาก เพราะมีน้ำใช้ในการเกษตรได้ตลอดปี แต่ในปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน ส่วนในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขาดเป็นตอนๆ ไม่เพียงพอแก่การเพาะปลูกและมีห้วยลำธาร คลอง 1,186 สาย มีสระหนองบึง ประมาณ 262 แห่ง

                                แหล่งน้ำชลประทาน

                                                    อาคารชลประทานที่สำคัญ ได้แก่

อาคารชลประทาน ความจุของอ่าง (ล้าน ลบ.ม.) พื้นที่รับประโยชน์ (ไร่)
ฤดูฝน ฤดูแล้ง
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง 18.74 12,637
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเฉลียงลับ 7.85 7,500
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา 8.40 1,000
โครงการฝายวังโป่ง 3,600
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ 13.25 11,250 2,250
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยนา 5.65 5,000 2,000
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น 33.22 31,880 6,300
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำชุนใหญ่ 7.52 3500
โครงการฝายศรีจันทร์ 6,000
โครงการฝายฝั่งซ้ายแม่น้ำป่าสัก 31,000
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำก้อ 20.58 13,000 5,200
โครงการฝายคลองวัวเน่า 2,000
โครงการฝายห้วยเล็ง 17.2 10,000
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำกง 48.52 50,000 22,000
รวมโครงการชลประทานขนาดกลาง 180.93 188,367 37,750

ที่มา : http://ridceo.rid.go.th/petboon/0107.php ค้นคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562

                   แหล่งน้ำใต้ดิน มีสภาพน้ำในดินดังนี้

                   1.สภาพน้ำใต้ดินให้ปริมาณน้ำปานกลาง (100-200 แกลลอน/นาที) โดยทั่วไปน้ำมีคุณภาพดี แต่บางพื้นที่มีหินปูน เจือปนอยู่ด้วย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ อ.บึงสามพัน อ.ชนแดน และ อ.วิเชียรบุรี

                   2.สภาพน้ำใต้ดินให้ปริมาณน้ำปานกลาง (100-200 แกลลอน/นาที) แต่น้ำมีคุณภาพต่ำ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ อ.หล่มเก่า อ.น้ำหนาว อ.หล่มสัก และ อ.เมืองเพชรบูรณ์

                   3.สภาพน้ำใต้ดินที่ให้ปริมาณน้ำน้อย (10-100 แกลลอน/นาที) โดยทั่วไปน้ำมีคุณภาพดี ใช้ดื่มได้ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ อ.ชนแดน อ.ศรีเทพ อ.หนองไผ่ อ.หล่มสัก และ อ.เมืองเพชรบูรณ์

1.2.5 ลักษณะดินและการใช้ประโยชน์

จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ทั้งสิ้น 7,747,383 ไร่ จากข้อมูลการใช้ที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ ปี 2560 –2562 แบ่งพื้นที่ถือครองทางการเกษตร 4,481,747 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 57.8  พื้นที่ป่าไม้ 2,660,176 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 34.33  และจากข้อมูลการใช้ดินทางการเกษตรของจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่พืชไร่ 2,322,739 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 51.82 รองลงมาเป็นพื้นที่นา 1,271,188 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 28.36

     การพัฒนาที่ดินได้จำแนกลักษณะดินของจังหวัดเพชรบูรณ์มีลักษณะดิน แบ่งออกเป็น 30 กลุ่มดิน ตามลักษณะพื้นที่ 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

     1.กลุ่มดินนา เป็นดินนาหรือดินลุ่มใช้ประโยชน์ในการทำนา โดยเรียงลำดับตั้งแต่ ดินเหนียวจัด ดินเหนียว ดินร่วนเหนียวปนทราย ดินร่วนปนทราย ดินทราย ดินทรายปนกรวด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 20 ของจังหวัด

     2.กลุ่มดินไร่ เป็นกลุ่มดินดอน ใช้ประโยชน์ในการทำพืชไร่และไม้ผล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 30 ของจังหวัด

     3.กลุ่มดินตื้น ใช้ประโยชน์ในการทำพืชไร่และผลไม้ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 10 ของจังหวัด

     4.กลุ่มดินภูเขา(Sc) ใช้ประโยชน์ในการปลูกไม้ผล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 40 ของจังหวัด

1.3 สภาพเศรษฐกิจและสังคม

          1.3.1 เขตการปกครอง

                   จังหวัดเพชรบูรณ์แบ่งการปกครองตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2543 ได้กำหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการออกเป็น 3 ระดับ คือ

  • ราชการส่วนภูมิภาค มีส่วนราชการประจำจังหวัด 29 หน่วยงาน มีสำนักงานจังหวัดเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารราชการ และเป็นศูนย์ประสานงานกับราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 117 ตำบล 1,439 หมู่บ้าน
  • ราชการส่วนกลาง ประกอบด้วย ส่วนราชการสังกัดส่วนกลาง ซึ่งมาจัดตั้งหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 51 หน่วยงาน และ
  • ราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 3 แห่ง เทศบาลตำบล 22 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 102 แห่ง รวม 128 แห่ง

1.3.2 ประชากร

          ในปี 2560 จังหวัดเพชรบูรณ์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 995,331 คน และจากสถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยมีผลการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2560 จำนวนประชากรจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีประชากรที่อาศัยอยู่จริง จำนวน 995,331 คน จำแนกเป็นเพศชาย 492,647 คน (49.5%) และเพศหญิง 502,684 คน (50.5%) ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลมีเพียงร้อยละ 17.6  และอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลร้อยละ 82.4 มีความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ 78.36 คนต่อตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรเฉลี่ยต่อครัวเรือนเท่ากับ 3.1 โดยจำนวนบ้านเฉลี่ยต่อหมู่บ้านเท่ากับ 240

ช่วงอายุและจำนวนประชากร

          จากผลการสำรวจความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2560 โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ปี 2560 มี ดังนี้

  • กลุ่มอายุ 0 – 14 ปี จำนวน 166,878 คน
  • กลุ่มอายุ 15 – 24 ปี จำนวน 131,357 คน
  • กลุ่มอายุ 25 – 59 ปี จำนวน 520,884 คน ร้อยละ 52
  • กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวน 162711 คน ร้อยละ 16
  • กลุ่มผู้ไม่มีสัญชาติ จำนวน 1,794 คน
  • ประชากรอยู่ระหว่างการย้าย จำนวน 1,290 คน
  • ประชากรในทะเบียนบ้านกลาง จำนวน 10,417 คน

1.3.3 พืชเศรษฐกิจ

          จังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา ทางอำเภอด้านของจังหวัด มีพื้นที่ราบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ตรงกลาง ลงมาจนถึงอำเภอด้านใต้ของจังหวัด ประกอบกับลักษณะภูมิอากาศที่มีภูเขาล้อมรอบจึงทำให้อากาศร้อนจัดในฤดูร้อน หนาวจัดในฤดูหนาว โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอน้ำหนาว เขาค้อ และหล่มเก่า จะมีอากาศหนาวที่สุด และบนภูเขาจะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี ในฤดูร้อนและฤดูฝนจะมีอุณหภูมิ 20 – 24 องศา  ทำให้จังหวัดเพชรบูรณ์สามารถปลูกพืชได้ทั้งพืชเขตร้อน และพืชเมืองหนาว โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังโรงงาน ถั่วเขียว ยาสูบ ยางพารา มะขามหวาน กะหล่ำปลี

1.3.4 การขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร

          ในปี 2562 จังหวัดเพชรบูรณ์มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนและแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรจำนวน 100,460 ครัวเรือน 284,986 แปลง เนื้อที่รวม 2,752,880 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 61.42 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562) โดยมีรายละเอียดดังนี้

                แบ่งตามกลุ่มการทำการเกษตร ได้แก่

           1. กลุ่มข้าว เกษตรกร 79,388 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 1,166,673 ไร่

          2. กลุ่มพืชไร่ เกษตรกร 47,211 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 1,160,525 ไร่

          3. กลุ่มไม้ผล เกษตรกร 6,099 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 75,555 ไร่

          4. กลุ่มไม้ยืนต้น เกษตรกร 2,887 พื้นที่เพาะปลูก 53,292 ไร่

5. กลุ่มพืชผัก เกษตรกร 3,740 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 17,110 ไร่

ชนิดพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด 10 ชนิดแรกได้แก่

  • ข้าวนาปี เกษตรกร 79,355 ครัวเรือน 142,759 แปลง เนื้อที่ 1,199,626 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 43.58 ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฤดูฝน เกษตรกร 30,165 ครัวเรือน 42873 แปลง เนื้อที่ 666,115 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 24.20 ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด
  • อ้อยโรงงาน เกษตรกร 10,206 ครัวเรือน 18,599 แปลง เนื้อที่ 271,747 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.87 ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด
  • มันสำปะหลังโรงงาน เกษตรกร 8,519 ครัวเรือน 10,273 แปลง เนื้อที่ 125,990 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.58 ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฤดูแล้ง เกษตรกร 12,246 ครัวเรือน 19,015 แปลง เนื้อที่ 120,052 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.36 ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด
  • มะขามหวาน เกษตรกร 3,455 ครัวเรือน เนื้อที่ 47,587 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.73 ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด
  • ยางพารา เกษตรกร 1,745 ครัวเรือน 2,106 แปลง 38,548 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.40ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด
  • ข้าวนาปรัง เกษตรกร 2,370 ครัวเรือน 3,680 แปลง พื้นที่ 22,607 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.82 ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด
  • ยาสูบ เกษตรกร 995 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 5,895 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.22  ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด
  • ปาล์มน้ำมัน 320 ครัวเรือน 398 แปลง เนื้อที่ 5,335 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.19  ของเนื้อที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด

เรียบเรียงโดย นายพีรพล สุธงษา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563